วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

เอส แอล อี (SLE)

ต้องขออภัยด้วยนะครับ ผมจำไม้ใด้ว่าได้ข้อมูลนี้มาจากไหน เลยไม่ให้เครดิตแหล่งที่มา หากใครทราบแหล่งที่มากแจ้งผมได้ที่ adisak.khumbunruang@gmail.com นะครับ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ โรค เอส แอล อี หรือโรค ลูปุส ได้รับความสนใจและกล่าวถึงโดยแพทย์ และประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แพทย์บางคนรวมทั้งผู้รู้บางท่านอาจคิดว่าโรค เอส แอล อี เป็นโรคร้ายแรง ซึ่งจะลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงกับเสียชีวิตในที่สุด จริง ๆ แล้วมีความเข้าใจผิดบางประการอยู่บ้างเพราะผู้ป่วยด้วยโรคลูปุสส่วนใหญ่จะมีการดำเนินโรคไม่รุนแรงนัก และมักจะมีชีวิตยืนยาวตามปกติได้ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

โรค เอส แอล อี คืออะไร
โรค เอส แอล อี (Systemic Lupus Erythematosus - SLE) หรือโรคลูปุส เป็นโรคที่เกิด จากภูมิต้านทานในร่างกายของเราชนิดหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ภูมิต้านทานชนิดนี้เป็นโปรตีนในเลือดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แอนติบอดี้ (ANTIBODIES) ซึ่งปกติจะมีหน้าที่จับและทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคจากภายนอกร่างกาย แต่โปรตีนชนิดนี้ ในผู้ป่วยโรคลูปุสจะจับ และทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ของผู้ป่วยโรคลูปุสเอง ขึ้นกับว่าจะจับอวัยวะใด เช่น ถ้าจับที่ผิวหนังก็จะทำให้เกิดผื่น ถ้าจับกับไต ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของไต จับกับเยื่อหุ้มข้อ ก็จะเกิด ข้ออักเสบขึ้น จัดเป็นโรคที่เรื้อรังชนิดหนึ่ง

คำว่า ลูปุส มาจากไหน
คำว่า ลูปุส (Lupus) แปลว่า สุนัขป่า (wolf) เนื่องจากแพทย์สมัยก่อนมองว่าผื่นที่แก้มและที่หน้า ที่เกิดในผู้ป่วยโรคลูปุสมีลักษณะคล้ายร่องรอยที่เกิดจากการทำร้ายโดยสุนัขป่าซึ่งจริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่ส่วนใดเกี่ยวข้องกับสุนัขป่าทั้งสิ้น

ใครจะมีโอกาสป่วยเป็นโรค เอส แอล อี บ้าง
ผู้ป่วยด้วยโรคแอส เอล อี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 20-45 ปีโดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 9-10 เท่า พบได้ในทุกเชื้อชาติ จะพบในคนผิวดำและผิวเหลืองมากกว่าผิวขาว จะพบมากในบริเวณเอเชียตะวันออก เช่น ในประเทศไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกง, และจีน จากความรู้ของ แพทย์ที่เพิ่มขึ้นประกอบกับความตระหนักรู้ของประชาชนทำให้พบผู้ป่วยโรคเอส แอล อี เพิ่มมากขึ้น

อะไรเป็นสาเหตุของโรค เอส แอล อี
ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค เอส แอล อี แน่ชัด แต่มี หลักฐานที่บ่งบอกว่าจะเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน คือ
1. กรรมพันธุ์
2. ฮอร์โมนเพศหญิง
3. ภาวะติดเชื้อบางชนิด, โดยเฉพาะเชื้อไวรัส
นอกจากนี้เรายังทราบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหรือมีโอกาสเป็นโรค เอส แอล อี มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น
1. แสงแดด โดยเฉพาะ แสงอุลตร้าไวโอแลต
2. การตั้งครรภ์
3. ยาบางชนิด

อาการของโรค เอส แอล อี มีอะไรบ้าง
โรค เอส แอล อี เป็นโรคที่มีลักษณะการแสดงออกได้หลากหลายลักษณะ อาจมีอาการเฉียบพลันและรุนแรงหรือมีอาการค่อยเป็นค่อยไปเป็นช่วงระยะเวลานานหลายปี อาจมีอาการแสดงออกของหลายอวัยวะในร่างกายพร้อม ๆ กันหรือมีการแสดงออกเพียงอวัยวะหนึ่งทีละอย่างก็ได้ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ได้ แต่ลักษณะเฉพาะของโรค เอส แอล อี คือผู้ป่วยจะมีอาการในหลาย ๆ ระบบของร่างกาย โดยจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่พร้อมกันก็ได้

เมื่อไรควรสงสัยว่าเป็นโรค เอส แอล อี
1. เมื่อมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ นานเป็นเดือน
2. เมื่อมีอาการปวดบวมตามข้อ
3. เมื่อมีผื่นคันที่หน้า โดยเฉพาะเวลาถูกแสงแดด
4. เมื่อมีผมร่วงมากขึ้น
5. เมื่อมีอาการบวมตามหน้า ตามเท้า

จะวินิจฉัยโรค เอส แอล อี ได้อย่างไร
ในการวินิจฉัยโรค เอส แอล อี แพทย์จะใช้เกณฑ์ที่ประกอบด้วยลักษณะอาการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังนี้
1. มีผื่นที่หน้า (Malar rash)
2. มีผื่นเป็นวง (Discoid rash)
3. มีผื่นแพ้แสง (Photosensitivity)
4. มีแผลในปาก
5. มีข้ออักเสบ (Arthritis)
6. มีเยื่อหุ้มปอด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
7. มีไตอักเสบ
8. มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก, คลุ้มคลั่ง
9. มีอาการทางระบบเลือด เช่น โลหิตจาง, เม็ดเลือดขาวหรือเกร็ดเลือดต่ำ
10-11. มีผลการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเฉพาะอย่างให้ผลบวก 2 ข้อขึ้นไป
ถ้าผู้ป่วยมีลักษณะเหล่านี้เกิน 4 ใน 11 ประการ แพทย์จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรค เอส แอล อี

การรักษาผู้ป่วย เอส แอล อี ทำได้อย่างไร
ในการรักษาโรค เอส แอล อี ทั้งผู้ป่วยและแพทย์จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องดังต่อไปนี้
1. ควรเข้าใจลักษณะของโรค ต้องเข้าใจก่อนว่าโรค เอส แอล อี เป็นโรคเรื้อรัง การดำเนินของโรคจะเป็นไปเรื่อย ๆ โดยอาจมีการทุเลาหรือกำเริบขึ้นได้เป็นระยะตลอดเวลา หรือกำเริบรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

2. พยาธิสภาพการเกิดโรคหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด

3. ผลของการรักษา และความอยู่รอดของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับว่ามีอวัยวะใดบ้างที่เกี่ยวข้องหรือมีการอักเสบ ความรุนแรงของโรค ความรวดเร็วในการประเมิน ความรุนแรงและการได้รับการรักษาที่ถูกต้องนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดของแพทย์ และความต่อเนื่องและสม่ำเสมอของการได้รับการรักษาของผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรก ปัจจุบันมีวิธีการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรก ๆ มีวิธีการรักษาที่ได้ผลดีมากหลายวิธีให้เลือกใช้ มียาปฏิชีวนะดี ๆที่สามารถควบคุมภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อของผู้ป่วยได้ดีกว่าสมัยก่อน ทำให้ความอยู่รอดของผู้ป่วย เอส แอล อีในปัจจุบันดีกว่าสมัยก่อนมาก

4. สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วย เอส แอล อี เกิดได้จาก 3 สาเหตุคือ
4.1 จากตัวโรคเอง เช่น การอักเสบของไต สมอง หลอดเลือด ตลอดจนการแตกของเม็ดเลือดแดง
4.2 จากภาวะติดเชื้อ กลไกพื้นฐานของโรค เอส แอล อี คือมีการเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิคุ้มกัน ประกอบกับผู้ป่วยได้รับยาต่าง ๆ เพื่อลดการอักเสบและกดภูมิคุ้มกันของร่างกายลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าบุคคลทั่วไป
4.3 จากยาหรือวิธีการรักษา การรักษาโรค เอส แอล อี ขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นมาก เป็นน้อย ในผู้ป่วยบางรายใช้แค่ยาแก้ปวดแอสไพริน หรือ ยาลดอาการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ก็ควบคุมอาการได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์ต้องใช้ยาสเตียรอยด์เช่น ยาเพร็ดนิโซโลน(prednisolone) ตั้งแต่ขนาดต่ำจนถึงขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นสัปดาห์หรือเป็นหลายเดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระบบอวัยวะที่มีการอักเสบ ในบางรายที่มีการอักเสบของอวัยวะสำคัญ เช่น ไต อาจจำเป็นต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่มีผลข้างเคียงมากขึ้น เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด แต่ให้เป็นครั้ง ๆ ในขนาดที่เหมาะสม หรือในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการเปลี่ยนถ่ายเลือดมาร่วมในการรักษาด้วย ทั้งนี้แล้วแต่ความรุนแรงของโรค และระบบอวัยวะที่มีการอักเสบ
สิ่งสำคัญในการรักษาโรค เอส แอล อี ขึ้นอยู่กับ การเลือกใช้ยาที่ถูกต้อง ทั้งชนิด ขนาด และจังหวะการให้ยาตามจังหวะของโรค แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การปฏิบัติตัวที่ดีของผู้ป่วย การมารับการตรวจรักษาสม่ำเสมอตามนัดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด

อะไรเป็นสาเหตุชักนำที่ทำให้โรค เอส แอล อี มีอาการรุนแรงขึ้นหรือกลับเป็นขึ้นใหม่
สาเหตุมีหลายประการ เช่น
1. การถูกแสงแดด อาจทำให้เกิดอาการกำเริบทางผิวหนัง และอาจะทำให้มีอาการ ของระบบอื่น ๆ ตามมาได้
2. การมีภาวะติดเชื้อ ไม่ว่าจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา
3. การตั้งครรภ์ ถ้ายังมีอาการของโรค เอส แอล อี อยู่ หรือยังควบคุมอาการไม่ได้ดี ยังไม่ควรตั้งครรภ์ ปกติแพทย์จะยอมให้ตั้งครรภ์ได้เมื่ออาการของโรคสงบลงอย่างน้อย 6 เดือน
4. การออกกำลังกายหรือทำงานหนักอย่างหักโหม
5. การถูกกระทบกระเทือนทางอารมณ์อย่างรุนแรง

จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคเอส แอล อี
1. ในระยะแรกต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
2. ควรพยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม และสวมใส่เสื้อแขนยาวเวลาที่จำเป็นต้องออกแดด
3. ทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรเครียด ท้อถอย เศร้าใจ หรือกังวลใจ เพราะทำให้อาการกำเริบได้ ควรมีกำลังใจและมีความอดทนต่อการรักษา
4. เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่าง ๆ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง
5. เนื่องจากผู้ป่วย เอส แอล อี มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายจึงต้องคอยระหวังตัว ไม่เข้าใกล้ผู้อื่นที่กำลังเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด พยายามไม่อยู่ในที่ผู้คนแออัด นอกจากนี้อาหารที่รับประทานทุกชนิดควรเป็นอาหารที่สะอาดและต้มสุกแล้ว
6. ทำตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และไปรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและประเมินความรุนแรงของโรคและผลการรักษาแพทย์จะได้พิจารณา ให้การรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
7. ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาบ่อย ๆ เพราะแพทย์คนใหม่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของ อาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเป็นอันตรายได้
8. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา
9. ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง
10. ถ้ามีอาการผิดปกติ มีไข้ หรือไม่สบาย ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที หรือหากจะไปหาแพทย์อื่น ควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อว่าแพทย์จะได้จัดยาได้ถูกต้องและสอดคล้องกับยาประจำที่รับประทานอยู่
11. ผู้ป่วยหญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่ควรมีบุตรในระยะที่โรคกำเริบ เพราะจะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดเพราะอาจจะทำให้อาการ ของโรคกำเริบขึ้น ควรเลี่ยงใช้วิธีอื่น ๆ แทนโดยการปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อ พ้นระยะที่โรคมีความรุนแรงแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์และขณะ ตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

การป้องกัน
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด การป้องกันไม่ให้เกิดโรค เอส แอล อีในขณะนี้ยังไม่มี หากท่านสงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยเสียแต่ในระยะแรก และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง การล่าช้าในการรักษาอาจทำให้อาการเป็นรุนแรงขึ้น เช่น ไตวาย หรือถึงแก่เสียชีวิตได้

ในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรค เอส แอล อี มีอัตราของความพิการหรือเสียชีวิตลดลงน้อยลง มากเมื่อเทียบกับ เมื่อ 10-20 ปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการที่เราสามารถพบและให้การวินิจฉัยโรค เอส แอล อี ได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ประกอบกับยาและวิธีการรักษาที่ดีขึ้นในอนาคต โดยอาศัยความรู้ ที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้สามารถค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของโรค เอส แอส อี สามารถแยกแยะผู้ป่วยเป็นกลุ่ม ปรับปรุงการรักษาให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ป่วย ตลอดจนควบคุมและให้การป้องกันไม่ได้เกิดโรค เอส แอล อี ขึ้นได้

ลักษณะทางอาการตามระบบที่สำคัญคือ
อาการทั่วไป ผู้ป่วยมักจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ จิตใจหดหู่

อาการทางผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีผื่นเกิดที่บริเวณใบหน้า ตั้งแต่บริเวณสันจมูกไปที่บริเวณโหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปคล้ายผีเสื้อ (butterfly rash) หรือที่เรียกว่า Malar rash นอกจากนี้ผู้ป่วยมักจะมีผื่นขึ้นหรือมีอาการคันเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด (photosensitivity) หรือมีผื่นเป็นวง ๆ เป็นแผลเป็นตามหน้า และหลังศรีษะหรือใบหู (discoid lupus) หรือมีอาการปลายมือปลายเท้าขาว ซีดเขียว เวลาโดนความเย็นผู้ป่วยบางรายจะมีแผลในปาก โดยเฉพาะบริเวณเพดานปากเป็น ๆ หาย ๆ

ผม อาการผมร่วงเป็นอาการที่พบบ่อยในขณะที่โรคเป็นรุนแรง

อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเอส แอล อี ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ อาจจะเป็นข้อนิ้วมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า อาจมีอาการบวมแดงร้อนร่วมด้วย อาจทำให้ข้อบิดเบี้ยวผิดรูปร่างได้ แต่จะไม่ถึงกับทำลายข้อ ดังเช่นในโรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์ นอกจากนี้อาจมีอาการปวด หรืออักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นร่วมด้วย

อาการทางไต ไต เป็นอวัยวะหนึ่งที่มีการอักเสบได้บ่อยในผู้ป่วย เอส แอล อี ผู้ป่วยที่มีไตอักเสบ จะมีอาการบวมบริเวณเท้า 2 ข้าง หน้า หนังตา หรือบวมทั้งตัว เราพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะมีไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะจำนวนมาก รายที่มีอาการรุนแรงขึ้นจะมีความดันโลหิตสูงขึ้น มีปัสสาวะออกน้อยลง หรือมีปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ในรายที่เป็นรุนแรงมากอาจถึงขั้นมีไตวายได้ อาการทางไตเป็นอาการสำคัญที่บอกว่าโรคค่อนข้างเป็นรุนแรง

อาการทางระบบประสาท เมื่อผู้ป่วย เอส แอล อี มีการอักเสบของสมอง บางรายมีอาการชัก บางรายมีอาการพูดเพ้อเจ้อ เอะอะโวยวาย คลุ้มคลั่งคล้ายคนโรคจิต จำญาติพี่น้องไม่ได้ บางรายมีการอักเสบของเส้นประสาทเฉพาะที่ร่วมด้วยได้

อาการทางระบบโลหิต บางครั้งมีการทำลายเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกร็ดเลือดทำให้มีอาการโลหิตจาง ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืดจะเป็นลม หรือมีเม็ดเลือดขาวต่ำลง หรือเลือดออกง่ายได้

อาการทางหัวใจและหลอดเลือด เมื่อมีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ บางครั้งมีจังหวะการเต้น ของหัวใจผิดปรกติถ้ามีการอักเสบของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ จะมีอาการของ การขาดเลือดของอวัยวะนั้น ๆ เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วย เอส แอล อี บางราย อาจมีภาวะเลือด แข็งตัวง่าย ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง ตามอวัยวะต่าง ๆ

อาการทางระบบเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบาก การดูดซึมสารอาหารจากลำไส้ผิดปกติ บางครั้งมีตับอ่อนอักเสบร่วมด้วยได้
ผู้ป่วยด้วยโรค เอส แอล อี แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทุกระบบ หรือมีอาการรุนแรงเสมอไป ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับระบบอวัยวะที่ผู้ป่วยมีอาการร่วมด้วย บางคนเป็นน้อย มีแต่ ไข้ ปวดข้อ มีผื่นขึ้น บางคนมีอาการรุนแรง มีชัก คลุ้มคลั่ง ไตวาย หรือปอดอักเสบรุนแรงจนมีเลือดออกในปอดได้ อาการของโรคจะแสดงความรุนแรง แต่บางครั้งอาการก็สงบลงได้เอง

โรค เอส แอล อี รู้ไว้ไม่ต้องกลัว
“โรค เอส แอล อี เป็นโรคที่คนไทยเราน่าจะรู้จักไว้ เพราะพบว่าคนไทยเป็นกันมาก และอาการมักรุนแรงกว่าที่พบในยุโรปหรืออเมริกาแต่ไม่ต้องกลัวเพราะตัวโรคเองไม่ติดต่อและไม่ได้ร้ายแรงเสมอ ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสม ปฏิบัติตัวถูกต้อง โรคก็จะสงบลงได้” เป็นคำพูดของ ผศ. น.พ. กิตติ โตเต็มโชคชัยการ หน่วยโรคภูมิแพ้ อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

4 ปีมานี้ เราคงได้ข่าวคราวของดาราหลายคนเป็นโรคนี้ เลยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้โรค เอส แอล อี โด่งดังเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางและมีไม่น้อยที่กำลังหวั่นเกรงว่าตัวเองหรือคนรู้จักใกล้ชิดจะเป็นโรคร้ายนี้ คำอธิบายของ ผศ. น.พ. กิตติ ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ คงจะทำให้เราเข้าใจโรคนี้ดีขึ้น

คุณหมอไขข้อข้องใจให้เราว่าความจริงโรคเอส แอล อี ซึ่งย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีการกล่าวถึงตั้งแต่สมัยกรีกและสมัยโรมันประมาณสัก 150 ปีมานี้ วงการแพทย์แผนปัจจุบัน เริ่มรู้จัก,ให้ความสนใจและมีการศึกษาโรคนี้อย่างจริงจัง สำหรับในภาษาไทยเองไม่มีชื่อเฉพาะสำหรับโรคนี้จำเป็นต้องเรียกทับศัพท์ว่า โรคเอส แอล อี และจัดเป็นโรคต้นแบบที่สำคัญของโรคในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง

เอส แอล อีเกิดได้อย่างไร
“โรค เอส แอล อี” เป็นโรคที่เกิดจากการแพ้ภูมิตนเองชนิดหนึ่งที่มีอาการแสดงออกของโรคหลากหลาย ตั้งแต่อาการน้อยถึงรุนแรงขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน และขึ้นอยู่กับว่า เกิดอาการอักเสบที่อวัยวะไหน”ฟังคุณหมอกิตติว่าแล้วเราคงตั้งคำถามอีกว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าโดยปกติแล้วเม็ดเลือดขาวบางชนิดในร่างกายเราจะเป็นตัวสร้าง
โปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นภูมิคุ้มกัน แล้วภูมิคุ้มกันตัวนี้มีหน้าที่ไปต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกาย แต่ปรากฏว่าคนที่เป็นโรค เอส แอล อี มีเม็ดเลือดขาวอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ แทนที่จะไปต่อต้านเชื้อโรค เช่นภูมิคุ้มกันของคนปกติทั่วไป กลับสร้างภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายของตนเอง ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นที่อวัยวะต่าง ๆ ที่มันเข้าไปทำลาย

กรรมพันธุ์ก็มีส่วน
สาเหตุที่ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันผิดปกติ ในขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด โดย ผศ. น.พ. กิตติ กล่าวว่า ขณะนี้เรารู้คร่าว ๆ ว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นน้อย แต่ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นคนหนึ่ง สมาชิกคนอื่นในครอบครัวก็มีโอกาสเป็นมากขึ้นกว่าคนปกติประมาณร้อยละ 10-16 ถ้าฝาแฝด คนหนึ่งเป็น อีกคนหนึ่งก็มีโอกาสเป็นมากกว่าคนปกติ ถึง 10 เท่า นั่นแสดงว่าสาเหตุส่วนหนึ่งคงมาจากกรรมพันธุ์
นอกจากนี้เรายังพบอีกว่า โรคนี้จะพบมากในกลุ่มประเทศ แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ติดแถบเขตร้อน ผศ. น.พ. กิตติ ให้เหตุผลว่าน่าจะเป็นไปได้ว่า ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ตลอดจนเชื้อชาติของคนแถบนี้ อาจทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้น สิ่งที่พบเหมือนกันหมดทั่วโลก คือ โรคนี้จะเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 9 เท่า โดยเฉลี่ยจะเป็นตอนช่วงอายุประมาณ 30 ปี คิดว่าฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคด้วย
อาการเช่นนี้แหละ เอส แอล อี
อาการของโรคเอส แอล อี จะมีลักษณะต่าง ๆ กันในแต่ละคน โรคเอส แอล อี เป็นโรคที่มีความสลับซับซ้อน และมีความหลากหลายของอวัยวะที่เป็น บางคนมีอาการปวดบวมตามข้อซึ่งมักจะเป็นอาการนำ มีอาการทางผิวหนังเช่น มีผื่นขึ้นที่หน้าเป็นรูปผีเสื้อ คือ ตั้งแต่ดั้งจมูก และโหนกแก้มสองข้าง ผื่นตามตัว หรือแขนขา มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ บางทีมีแผลในปากบ่อย ๆ ในตำแหน่งเฉพาะเช่น เพดานปาก ผมร่วง มีอาการบวมตามตัวตามขาจากไตอักเสบ หรือมีอาการอื่น ๆ ที่อาจจะไปพ้องกับอาการที่พบในโรคอื่นได้

แต่คนที่มีอาการดังกล่าวอย่าเพิ่งตกใจเหมาว่ากำลังเป็นโรค เอส แอล อี เพราะคุณหมอกิตติขยายความว่า “การวินิจฉัยต้องอาศัยประวัติอาการของคนไข้ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและถ้าให้แน่ใจเราจะตรวจเลือดเพื่อดูผลตรวจว่าเข้าได้กับโรค เอส แอล อี หรือไม่ อาการดังที่กล่าวมาแล้วอาจจะเกิดจากโรคอื่นหรือ อาจเป็นผลข้างเคียงของยา เช่น ยารักษาโรคหัวใจบางชนิด หรือยากันชักเป็นต้น”


รักษา เอส แอล อี ไม่มีแบบแผนตายตัว
“ความรุนแรงของโรคในแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนเป็นผื่นขึ้นทายานิดหน่อยอาการก็สงบแล้ว บางคนเป็นรุนแรงมากขึ้น มีอวัยวะสำคัญ ๆ อักเสบ เช่น ไต ถึงสมองอักเสบก็จะมีอาการชัก ถ้าเป็นระบบเลือดก็อาจมีเม็ดเลือดขาวต่ำลง เกล็ดเลือดต่ำลงได้”
ด้วยอาการของโรคที่หลากหลายฉะนั้นการรักษาจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนเท่านั้น ไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว “ตัวโรค เอส แอล อี เอง ถ้าแม้บางครั้งอาการจะรุนแรง แต่โดยทั่วไปสามารถรักษาให้อาการสงบลงได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยระวังรักษาตัวไม่ดี อาจมีปัญหายุ่งยากในการรักษาแต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของโรค เอส แอล อี จะทราบว่าโดยทั่วไปตัวโรคจะรุนแรงในช่วงเริ่มเป็นสองปีแรก ถ้าสามารถรักษาให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้อาการก็มักจะสงบลง ยกเว้นที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ภาวะติดเชื้อซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้ตัวโรคเป็นมากขึ้นหรือรักษาลำบากขึ้น เพราะมลภาวะและการรักษาความสะอาดในบ้านเรายังไม่ดีนัก ประกอบกับคนที่เป็นโรคนี้อัตราเสี่ยงของการติดเชื้อจะสูงกว่าคนปกติ เพราะตัวโรคเองทำให้มีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ และคนไข้เหล่านี้จะต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อรักษาตัวโรคอีกด้วย ฉะนั้นคนที่เป็นโรคนี้จึงติดเชื้อโรคง่ายกว่าคนปกติ”
ดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่เป็น เอส แอล อี จึงจำเป็นต้องมีข้อระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าคนปกติ คุณหมอแนะนำว่า “ตั้งแต่เรื่องความสะอาด อาหารทุกอย่างควรทำสุกและสะอาด เพราะในบ้านเรานี่พบการติดเชื้อทางเดินอาหารบ่อยมาก หลีกเลี่ยงแสงแดดและที่ชุมชนแออัด ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ ถ้าเครียดมาก หรือหักโหมงานหนัก อดนอนก็ทำให้โรคกำเริบได้ รวมถึงญาติของผู้ป่วยก็ต้องสนับสนุนในเรื่องจิตใจให้กำลังใจผู้ป่วย เรื่องจิตใจนี่สำคัญ เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ต้องต่อสู้อีกไกล บางคนเป็นที่ไต ก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกิน งดอาหารที่มีรสเค็ม ลดอาหารจำพวกโปรตีนลง กินไม่ได้เท่าที่อยากกิน เป็นต้น” และที่สำคัญมากก็คือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ผศ. น.พ. กิตติ ยังฝากบอกคนที่เข้าใจว่าเป็น เอส แอล อี แล้ว ห้ามมีบุตรว่า ก็มีส่วนในกรณีที่โรคยังเป็นมากอยู่ เพราะจะเป็นอันตรายทั้งแม่และเด็ก แต่ถ้าอยากมีบุตรจำเป็นต้องรอรักษาจนแน่ใจว่าโรคสงบแล้ว อย่างน้อยประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ก็อาจจะพิจารณาการมีบุตรได้

สำหรับคนทั่วไปที่กลัวว่าจะเป็นโรค เอส แอล อี ไม่ควรวิตกกังวลมาก อย่างที่ ผศ. น.พ. กิตติ บอกแล้วว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ คนที่เป็นแล้วก็ไม่ต้องกลัว ถ้าปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด อาการของโรคก็มักจะสงบลง สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น