วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยใช้หลัก CSR ตอนที่ 2

เรืองฤทธิ์ ไชยสิงห์ ฝ่ายวิศวกรรมและเทคนิค บริษัท เอส ซี จี ซิเมนต์ จำกัด
ขอบคุณข้อมูลจาก: สารสภาวิศวกร ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2552

สิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการทำ CSR

CSR นั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการบริหารงานที่ต้องสมดุลกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องใส่ใจหรือคำนึงถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

การทำ CSR ที่ถูกต้อง ที่มีพื้นฐานจากความจริงใจนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจอย่างชัดเจนและวัดผลได้ ยกตัวอย่างเช่น

ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
(Competitiveness and Unique market Positioning)

ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจของสถาบันคีนันแห่งเอเชียที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พบว่า 60% ของผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจที่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และ 59% ที่มีความต้องการที่จะซื้อสินค้าแม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น

เอื้อประโยชน์ด้านการบริหารความน่าเชื่อถือ
การบริหารความน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในธุรกิจ จากการสำรวจการทำ CSR ในหลายประเทศพบว่า CSR เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) ที่สำคัญ ซึ่งมูลค่าของ Intangible Asset นั้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับภาคธุรกิจ

เอื้อประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยง
ความซับซ้อนของเศรษฐกิจสมัยใหม่นำไปสู่ความเสี่ยงแบบใหม่ที่ยากเกินกว่าจะคาดเดา ดังนั้น การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงสำคัญมากในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากความเสี่ยงที่ควบคุมได้ยาก ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเมื่อธุรกิจสามารถที่จะร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โดยการสร้างความยอมรับจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการสร้างความเจริญให้กับชุมชนที่อยู่ร่วมกัน ย่อมจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงสภาวะวิกฤติได้

เอื้อประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานและรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท
จากการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า42% ของผู้หางานจะพิจารณาประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ ในการเลือกสมัครเข้าทำงาน และพนักงานในบริษัทก็ให้ความสนใจด้านการรับผิดชอบต่อสังคม และใช้เป็นหัวข้อที่ตัดสินใจในการเลือกที่จะทำหรือเปลี่ยนไปทำกับบริษัทอื่นที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า

ประสิทธิภาพของการดำเนินงาน (Operational Efficiency)
การมุ่งเน้นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จด้านการเงินของภาคธุรกิจได้ ด้วยการลดการใช้วัตถุดิบและ/หรือพลังงาน ลดการเกิดของเสียในกระบวนการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เอื้อประโยชน์ด้านผลประกอบการ
จากหนังสือ "Built to Last" ของ James C. Collins ที่เปรียบเทียบผลประกอบการของ 18 บริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมา พบว่า บริษัทที่มีเป้าหมายมากกว่าการสร้างกำไรและร่วมรับผิดชอบต่อสังคมนั้นจะสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่สูงถึง 6 เท่าของบริษัทที่มุ่งเน้นผลกำไรเพียงแค่อย่างเดียว

จากประโยชน์ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการทำ CSR นั้นเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญและดำเนินการเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ติดตามตอนที่ 3 นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น