วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

การซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) ตอนที่ 2

นางสาวกนกวรรณ วงศ์กวี
กลุ่มงานคณะกรรมาธิการ การทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักกรรมาธิการ 3
ขอบคุณข้อมูลจาก: สารสภาวิศวกร ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2552

มาทำความรู้จักกับ Carbon Credit ในเบื้องต้นกันดีกว่า

"คาร์บอน เครดิต" หมายถึง สิ่งทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญน้ำมันดิน (Fossil Fuel) ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือยานยนต์ รวมถึงก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Green House Gas) เช่น ก๊าซมีเทน (CH4) ที่เกิดจากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อันเป็นสาเหตุภาวะโลกร้อน (Global Warming) หากประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถลดมลพิษาของตนได้อีกต่อไป ก็ต้องใช้วิธีช่วยเหลือประเทศด้วยพัฒนาให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อลดได้จะกลายเป็นคาร์บอนเครดิตของตนเองทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าปรับ เช่น การปลูกป่าไม้ 2.5 ไร่ สามารถเก็บคาร์บอนเครดิตได้ 2 ตัน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนน้ำมัน 1 หน่วย จะได้เครดิตประมาณ 0.6 กิโลกรัม ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ให้ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุล (นาโนเทคโนโลยี) มาประยุกต์ใช้

ปัจจุบัน ประเทศไทยค่อนข้างตื่นตัวกับการพัฒนาโครงการรวมทั้งความพยายามสร้างโครงการเพื่อรองรับการซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก ดังจะเห็นได้จากมีบริษัทเอกชนหลายแห่งเริ่มโครงการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขอนแก่นในเครือ KSL เครือปูนซีเมนต์ไทย หรือกลุ่มบริษัทมิตรผลที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติให้สามารถซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว และในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีองค์กรมหาชน ชื่อว่า "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) พ.ศ.2550" (Thailand Greenhouse Gas Management Organization, TGO) หรือ ที่มีชื่อย่อว่า อบก. มีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรอง และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดรวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับรอง รวมถึงเป็นศูนย์กลางข้อมูลดำเนินงานและให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น