วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

Knowledge Management Learning Organization (KM/LO)

KM/LO องค์การแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้

ปัจจุบันหลายองค์กรต่างให้ความสำคัญต่อเรื่อง "องค์การแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้" โดยมีการดำเนินการในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งนี้เป็นเพราะบริบทของการบริหารจัดการได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่มีการแยกส่วนไปสู่การมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องนำแนวทางต่างๆ มาใช้ในเชิงบูรณาการเพื่อให้องค์กรและผู้ปฏิบัติงานได้รับประโยชน์และสามารถปฏิบัติภารกิจหลักขององค์กรต่อไปได้

ปัจจัยสำคัญที่องค์กรแต่ละแห่งจะบรรลุในแนวทางดังกล่าวได้ คือ การให้ความสำคัญต่อพนักงานทุกคน ซึ่งในทางบริหารแนวใหม่เรียกว่า "ทุนมนุษย์" (Human Capital) โดยนำความรู้จองแต่ละคนมาแลกเปลี่ยน รวบรวมจัดเก็บ และสร้างฐานความรู้ (Knowledge Besed) ให้เกิดขึ้นในองค์การเพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน รวมทั้งสร้างความได้เปรียบในเชิงของธุรกิจได้ต่อไป การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่องค์กรต่างๆ ได้นำมาใช้

แนวคิดการสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้
การจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนางานหรือการทำงานร่วมกัน (Collaborative Working) ภายในหน่วยงาน มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรไปในเวลาเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม พื้นฐานสำคัญของการพัฒนาองค์กรเพื่อมุ่งไปสู่ "องค์การแห่งการเรียนรู้" (Learning Organization : LO) และสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) นั้น การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือด้านต่างๆ การใช้ประโยชน์จาก IT รวมไปถึงการมอบรางวัล การยกย่องชมเชย เป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวในเรื่องดังกล่าวได้

ความรู้.....คืออะไร
ความรู้ คือ สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติ และทักษะความเข้าใจหรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ สิ่งที่ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ องค์วิชาในแต่ละสาขา (ที่มา : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

รูปแบบของความรู้ มี 2 ประเภท คือ
1. ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่างๆ เอกสาร กฎ ระเบียบ วิธีการปฏิบัติงาน สื่อต่างๆ เช่น VCD DVD Tape Internet เป็นต้น และบางครั้ง เรียกว่า "ความรู้แบบรูปธรรม"
2. ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาตญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด หรือลายลักษณ์อักษรไโดยง่าย เช่น ทักษณะในการทำงาน งานฝีมือ ประสบการณ์ แนวความคิด บางครั้งจึงเรียกว่า "ความรู้แบบนามธรรม"

การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มารวบรวม จัดเก็บ ให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล กระบวนการในการจัดการความรู้ เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงขั้นตอนที่ทำให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้ หรือพัฒนาการของความรู้ที่จะเกิดขึ้นในองค์กร ประกอบด้วย

(1) การบ่งชี้ความรู้ คือ การค้นหาและระบุให้ได้ว่า การที่องค์กรจะบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร และคนในองค์กรจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง ขณะนี้มีความรู้อะไรบ้าง อยู่ในรูปแบบใด เช่น อยู่ในเอกสารฐานความรู้ หนังสือเวียน หรือในตัวบุคคล และอยู่ที่ใครบ้าง เป็นต้น

(2) การสร้างและแสวงหาความรู้ โดยการสร้างความรู้ใหม่ที่จำเป็นต่อองคืกร การแสวงหาความรู้จากภายนอกองค์กร (องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับความรู้ที่ต้องการเป็นพิเศษ) การรักษาความรู้เก่าที่มีอยู่และยังเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ตลอดจนการกำจัดความรู้ที่ใช้ไม่ได้แล้ว เป็นต้น

(3) การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ คือ การวางโครงสร้างความรู้ในองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บความรู้อย่างเป็นระบบในอนาคต

(4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ คือ การปรับปรุงเอกสาร โปรแกรมการจัดเก็บเอกสารให้เป็นมาตรฐานโดยใช้รูปแบบและเนื้อหาเดียวกัน และปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำความรู้ไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

(5) การเข้าถึงความรู้ คือ การกำหนดรูปแบบและวิธีการที่จะทำให้คนในองค์กร สามารถเข้าถึงความรู้ได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การฝึกอบรม การทำหนังสือเวียน การจัดทำ Website Web Board เป็นต้น

(6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ คือ การที่คนในองค์กรนำความรู้ที่มีอยู่มาแลกเปลี่ยนกัน ทั้งในรูปแบบที่จับต้องได้ เช่น เอกสาร ฐานความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ Intranet หรือในรูปแบบที่ไม่สามารถจัดต้องได้ เช่น การจัดทีมข้ามสายงาน การจัดกิจกรรมกลุ่มคุณภาพและนวัตกรรม การจัดชุมชนแห่งการเรียนรู้ การใช้ระบบพี่เลี้ยงเพื่อสอนงาน การสับเปลี่ยนสายงาน การยืมตัว และการจัดเวทีความคิดเห็น เป็นต้น

(7) การเรียนรู้ คือ การที่คนในองค์กรนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ไปใช้ในการปฏิบัติงานโดยมีการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ และนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ในองค์กร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น